ห้องน้ำผู้สูงอายุ สิ่งที่ต้องรู้ก่อนรีโนเวตให้ผู้สูงวัยที่บ้านใช้ห้องน้ำได้อย่างปลอดภัย
ห้องน้ำผู้สูงอายุ เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ สำหรับบ้านที่มีผู้สูงวัยให้ต้องดูแล จึงจำเป็นต้องเน้นถึงความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะการเข้าห้องน้ำ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ที่ผู้สูงอายุเข้าห้องน้ำแล้วลื่น ส่งผลทำให้บาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงอาการหนัก ดังนั้นจึงจะต้องใส่ใจในการเลือกห้องน้ำให้ปลอดภัย เพราะผู้สูงอายุมีร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรง พละกำลัง สายตา และการดูแลตัวเองค่อนข้างน้อย ลูกหลานในบ้านจึงต้องคำนึงถึงห้องน้ำผู้สูงอายุที่ปลอดภัยและใช้งานได้จริง รวมถึงยังคงความสวยงามสะอาดสะอ้านอีกด้วย ชาญไพบูลย์ ได้รวบรวมปัจจัยสำคัญในการออกแบบ ห้องน้ำผู้สูงอายุ เพื่อใช้เป็นไกด์ไลน์สำหรับทำห้องน้ำใหม่ รีโนเวต หรือปรับปรุงเพื่อผู้สูงวัยที่เรารัก ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงมีดังนี้
- แยกพื้นที่เปียกและพื้นที่แห้ง
- พื้นห้องน้ำควรปรับให้มีความเรียบเสมอกัน ไม่สูงๆ ต่ำ ๆ
- พื้นภายในห้องน้ำต้องไม่ลื่น เพื่อป้องกันผู้สูงอายุลื่นล้ม แนะนำเป็นพื้นกันลื่น อาจจะเป็นพื้นกระเบื้อง หรือพื้นไม้ก็ได้
- กระเบื้องปูพื้น เลือกแบบที่มีค่า Ramp หรือค่า R10 ขึ้นไป เพื่อให้พื้นผิวกระเบื้องมีความหนืดมากยิ่งขึ้น


- ราวจับบริเวณอาบน้ำ ควรติดตั้งราวพยุงตัวในแนวดิ่ง เพื่อใช้ในการเกาะยึดเวลาที่เคลื่อนไหว หรือลุกนั่ง โดยติดตั้งราวพยุงตัวให้สูงจากพื้นประมาณ 60-85 เซนติเมตร
- ราวทรงตัวแบบค้ำยันบริเวณชักโครก ราวจับพยุงตัวสำหรับลุกนั่งที่ด้านข้างชักโครก ติดตั้งฝั่งเดียวหรือสองฝั่งก็ได้ หรือจะเป็นราวทรงตัวด้านหนึ่ง และราวติดผนังอีกด้านหนึ่งก็ได้เช่นกัน โดยระยะติดตั้งควรสูงจากพื้นประมาณ 58-70 เซนติเมตร

- ฝักบัวที่ใช้สำหรับอาบน้ำ ควรเลือกใช้แบบที่ปรับระดับสูง-ต่ำได้ เพื่อที่จะไม่ต้องเอื้อมสูงในการหยิบใช้งาน ควรเป็นก๊อกฝักบัวแบบก้านโยก ใช้งานง่าย
- หากติดตั้ง เครื่องทำน้ำอุ่น ควรปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้อาบน้ำอย่างอบอุ่น เพราะบางคนสายตาไม่ดีจนไม่สามารถปรับอุณหภูมิของเครื่องทำน้ำอุ่นได้ด้วยตัวเอง ลูกหลานจึงควรที่จะปรับอุณหภูมิไว้ให้ผู้สูงอายุได้ใช้งานได้ทันที
- พรมกันลื่น ติดตั้งไว้ในบริเวณอาบน้ำ เพื่อช่วยป้องกันการลื่นเวลาพื้นที่อาบน้ำเปียก
- เก้าอี้นั่งอาบน้ำ แน่นอนว่าผู้สูงอายุอาจจะไม่สะดวกในการยืนอาบน้ำ เหมือนกับคนอายุน้อยๆ ดังนั้นการเลือกเก้าอี้ที่เหมาะสำหรับสรีระ ที่นั่งกว้าง มั่นคงแข็งแรง และที่สำคัญจะต้องไม่ลื่น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้นั่งอาบน้ำได้อย่างสะดวก

- อ่างล้างหน้า ควรเลือกใช้แบบที่เป็นขอบมน ด้านหน้ามีความโค้งเว้า จะช่วยให้ผู้สูงอายุใช้อ่างล้างหน้าได้สะดวกขึ้น และการติดตั้งต้องมั่นคงแข็งแรงพอจะรับน้ำหนักจากการเท้าแขนได้ด้วย
- ก๊อกน้ำอัตโนมัติ หรือก๊อกน้ำที่มีระบบเซนเซอร์ ในการเปิดปิดน้ำแบบอัตโนมัติ เพราะก๊อกน้ำแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถล้างมือล้างหน้าได้อย่างสะดวกโดยไม่ต้องออกแรง หรืออาจเลือกก๊อกน้ำแบบก้านปัดเพื่อลดแรงในการใช้งาน

- ตัวชักโครกควรมีความกว้าง 35-40 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อให้มีความกว้างพอในการรองรับน้ำหนักของผู้สูงอายุนั่นเอง เพราะจังหวะในการลุกนั่งของผู้สูงอายุค่อนข้างลำบาก การมีชักโครกที่ค่อนข้างกว้างก็จะทำให้ลุกนั่งสะดวกและทำธุระส่วนตัวได้อย่างสบาย ไม่เมื่อย
- ส่วนสูงของชักโครก แนะนำโถที่สูงจากพื้นประมาณ 40-45 เซนติเมตร เพื่อให้ลุกนั่งได้แบบไม่ต้องย่อตัวลงมากเกินไปนัก
- ที่กดน้ำและสายฉีดชำระ ให้ติดตั้งไว้ด้านข้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องเอี้ยวตัวมากจนเกินไป
- ฝารองนั่ง ถ้าเลือกใช้แบบอัตโนมัติจะอำนวยความสะดวกได้ดี หรือเลือกใช้ฝารองนั่งที่ผลิตจาก UF พอลิยูเรียฟอร์มาลดีไฮด์ ซึ่งมีความเหนียว ทนทานต่อการแตกหัก

